LAMPANG-CNN
 จิ ต วิ ท ย า ใ ก ล้ ตั ว

HOME

 บอกอ ขอคุยด้วย   

 นครลำปาง ณ วันนี้

 การค้า-เศรษฐกิจ 

 สังคม-วัฒนธรรม 

 รถม้าพาเที่ยว      

 สุขกายสบายใจ    
 จิตวิทยาใกล้ตัว    
    + หัวเราะสำคัญกว่าที่คิด
 สาระบันเทิง        
 แจ่งหนังสือ         

 นำเสนอความรู้ และเทคนิคทางจิตวิทยาที่คุณสามารถนำไปใช้ได้จริงในสังคมปัจจุบัน                      

                                                                                                                                                                                                                                                                                            โดย  ไซโค24                      

  

 

 

 

จิตวิทยา หรือ Psychology เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ Psycho หมายถึง จิตใจ ไม่ใช่หัวใจนะครับ  และไม่ใช่สมองด้วย แต่สมองเปรียบเสมือนเป็น "บ้าน" ของจิต จิตจึงเป็นเป็นเรื่องของนามธรรม ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ แต่เป็นพลังงานที่มองไม่เห็น มีอยู่จริง เปรียบเทียบง่ายๆคือ สมองก็เหมือนกับสายไฟฟ้า เรามองเห็นและจับต้องมันได้ แต่ไอ้เจ้ากระแสไฟฟ้าที่วิ่งพล่านอยู่ภายในลวดทองแดงนั้นเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ( และอย่าเผลอไปจับนะครับ) แต่เป็นพลังงานที่มีอยู่จริงๆ ............

 

Logy หมายถึง ศาสตร์หรือวิชาการนั่นเองครับ ส่วนใครบางคนที่คิดมากสักหน่อย อาจถามต่อไปว่า แล้วไอ้เจ้าพลังงานทางจิตนี่ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผมคงอธิบายได้ไม่สมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ นักค้นคว้าวิจัยทั้งทางด้านจิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ ด้านจิตเวชศาตร์ รวมทั้งด้านชีวเคมีทางสมอง และระบบประสาท ก็ยังถกเถียงกันไม่จบ เพราะโดยภาพรวมๆแล้ว พลังงานทางจิตไม่สามารถอธิบายกระบวนการของมันทั้งหมดได้ด้วยวิธีการทางฟิสิกส์ที่เรามีใช้กันบนโลก จึงไปลงเอยกันที่ "เมต้าฟิสิกส์" คือสรุปง่ายๆว่าอยู่นอกเหนือกฏเกณฑ์ที่วิทยาศาตร์พิสูจน์ได้ไงครับ

คุณที่อ่านมาถึงตรงนี้คงจะเริ่มเบลอๆ และเตรียมที่จะคลิกผ่านหน้านี้ไปแน่ๆ เอาละครับที่กล่าวมายืดยาว เพียงให้หลายๆท่านที่ไม่ได้ร่ำเรียนวิชานี้มา หรือผ่านตามาบ้างแต่ไม่ใส่ใจ ได้เข้าใจคำว่า "จิตวิทยา" เสียก่อน เพราะพออ่านตำราจิตวิทยาเบื้องต้นไปได้สักพัก ใจมันก็พาลทึกทักว่า ไอ้นั่นมันเหมือนชีวิตเรา เอ...เรื่องนี้มันตรงกับเราแป๊ะๆเลย ไปๆมาๆเลยเลิกอ่านเลย เพราะทนอ่านต่อไม่ได้ไงครับ สำหรับเว็บไซท์ "ลำปางซีเอ็นเอ็น" ผมคงนำเสนอจิตวิทยาในแบบที่คุณสามารถเรียนรู้ และเข้าใจได้ง่ายๆ เพื่อนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และช่วยให้คุณๆสามารถอาศัยอยู่ในโลกเบี้ยวๆใบนี้ได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพไงล่ะครับ

-----------------------------------------------------------------------------

มมีเพื่อนคนหนึ่ง มันทำกิจการโรงงานขนาดกลาง มีคนงานราวๆ 20กว่าคน วันหนึ่งผมมีโอกาสไปหามันที่โรงงานเพื่อติดต่อธุรกิจด้วย พอเจอหน้ากันมันชิงทักผมก่อนเลย " เฮ้ย ขอปรึกษาหน่อย มีปัญหาว่ะ " ผมก็สงสัยว่ามันจะมีปัญหาเรื่องอะไร กิจการก็เจริญก้าวหน้าดี เงินทองไหลมาเทมา " เออ เอ็งมีเรื่องอะไรปรึกษาก็ว่ามา ยกเวันอย่างเดียวเรื่องเอ็งจะไปจีบเด็ก แล้วมาถามว่าจะต้องใช้เทคนิคทางจิตวิทยาแบบไหน ข้าเสนอแนะให้เอ็งไปถามเมียเอ็งก่อนว่าอนุญาตไหม ถ้าโอเคค่อยว่ากันอีกที " ผมใส่เป็นชุด เป็นการตกลงบริการ ( ภาษาทางวิชาการให้คำปรึกษา ) ก่อนล่วงหน้า เพราะเพื่อนผมคนนี้ค่อนข้าง "ขี้หลี" พอสมควร แม้แต่เด็กปั๊ม ถ้าหน้าตาดีหน่อย พอเติมเสร็จมันให้ทิปเฉยเลย แถมชวนเขาทานข้าวด้วยภายในเวลาไม่ถึงห้านาที " เปล่าว่ะ โธ่ไอ้เวรเอ็งก็พูดเกินไป ข้าจะปรึกษาเรื่องคนงานของโรงงานหน่อย"

"จะจีบคนไหนอีกล่ะวะ" ผมพูดดักคอมันเสียก่อน

"โธ่เดี๋ยวข้าพาลไม่ขายของให้เอ็งเสียเลย จะไปจีบใครได้ อยู่ในสายตาเมียบังเกิดเกล้าหมดทุกคน" เพื่อนผมตอบอย่างเสียไม่ได้ พร้อมสายตาละห้อย

" เออว่ามา มีเวลาให้เอ็ง 15 นาที " ผมใช้วิธีตกลงบริการทันทีอีกครั้ง เพราะจะต้องรีบไปทำธุระที่อื่นด้วย

"คนงานฝีมือดีของข้าสองคน เพิ่งจะมาขอลาออกกับข้าเมื่อเช้านี้ ข้าสอบถามมันว่าไม่พอใจค่าจ้าง หรืองานที่ทำหรือไง มันก็บอกว่าพอใจมาก แถมยังบอกอีกว่าเถ้าแก่ที่โรงงาน ที่มันเคยทำงานด้วยเมื่อสี่ปีที่แล้ว ค่าจ้างน้อยกว่า ซ้ำยังเข้มงวดแกมบังคับเอามากๆ "

" แล้วเอ็งพูดกับคนงานสองคนนี้ยังไงต่อ" ผมสอบถาม

" ข้าก็ตัดสินใจบอกมันไปว่า ข้าจะเพิ่มค่าจ้างค่าแรงงานให้อีกคนละพันห้า ขอเพียงให้มันอยู่ทำงานต่อ เพราะถ้าข้าขาดคนงานสองคนนี้ การผลิตจะช้าลงทันที เพราะต้องมาเทรนคนใหม่ กว่าจะคล่องก็อีกเป็นปี เสียหายมากๆเลยว่ะ แต่ก็ไม่ได้บอกมันในเรื่องนี้นะ เพราะกลัวมันจะได้ใจ แต่ก็ยังสงสัยมากๆว่ามันมีเหตุผลสำคัญอะไร ถึงต้องลาออก ทั้งที่ค่าแรงก็ให้เต็มที่ มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กฏหมายกำหนดเสียอีก งานที่มันทั้งสองทำก็ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร คอยควบคุมแนะนำคนงานอื่นๆให้ทำตามแบบที่กำหนดมากกว่า มาดูที่เรื่องส่วนตัว ก็ไม่เห็นว่าครอบครัวจะมีปัญหาอะไร ข้าเลยงง จะสอบถามต่อเดี๋ยวก็จะกลายเป็นการเข้าใจไปว่าข้าง้อมันมาก หรือไม่ก็บังคับกีดกันมันไปเสียอีก เลยได้แต่บอกมันว่าขอเวลาให้เสร็จสินค้าล๊อตนี้ก่อน แล้วค่อยพิจารณาอีกที พูดง่ายๆคือซื้อเวลาไปอีกสัก 2 เดือนน่ะ "

" ข้าฟังเอ็งเล่ามา ทั้งหมดนี้ถ้าเอ็งไม่หมกเม็ด...." ผมยังไม่ค่อยแน่ใจมากนักว่าได้ข้อมูลมาครบถ้วน

" รับรองด้วยเกียรติของเถ้าแก่ เอสเอ็มอี เพราะข้าไม่เห็นประโยชน์อันใดที่จะมาปกปิดเอ็ง และที่สำคัญข้าไม่อยากเสียคนงานเก่งๆไป โดยที่ข้าไม่รู้ว่ามันต้องการอะไร หรือไม่พอใจเรื่องอะไร " เพื่อนผมกล่าวด้วยสีหน้าเอาจริง ซึ่งนานๆจะได้เห็นสักที

" เอ็งบอกว่าคนงานสองคนนี้พอใจค่าจ้างที่ได้รับ และเอ็งยังจะเพิ่มให้อีกถ้าอยู่ช่วยงานต่อ คนงานสองคนนี้มีความพอใจงานที่ทำอยู่ ไม่พบว่ามีปัญหาขัดแย้ง หรือไม่พอใจงานที่ทำอยู่ ปัญหาครอบครัวก็ไม่มี ครอบครัวก็อยู่เป็นสุขตามปกติแบบชาวบ้านทั่วๆไป...." ผมทำการสรุปข้อมูลที่เพื่อนเล่ามาอีกครั้งให้สั้น และกระชับขึ้น

" เออแม่นแล้ว เอ็งเข้าใจที่ข้าพูดนี่..." เพื่อนผมแสดงความพอใจ และดูมีความหวังมากขึ้น

" เอ็งยังไม่รีบตัดสินใจอนุญาตให้สองคนนี้ออก เพราะต้องการปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องช่วยให้คนงานเปลี่ยนใจ รวมทั้งไม่ต้องการพูดอะไรมากไปกว่านี้ เพราะกังวลว่าคนงานจะเข้าใจผิดว่าไปกีดกันไม่ให้เขาลาออก และ เอ็งก็กลัวเสียศักดิ์ศรีความเป็นเถ้าแก่ ถ้าจะต้องไปง้อคนงานมากเกินไป....." ผมสรุป พร้อมกับแปลความหมายคำพูดของเพื่อนผม

" แน่นอนว่ะ ขืนง้อมากๆ มันก็จะไม่เชื่อถือเอา แถมจะเอาไปพูดกับคนงานคนอื่นๆอีก คราวนี้ข้ามิต้องมาตามง้อคนงานในโรงงานทุกคนหรือวะ " ผมฟังเพื่อนผมพูด และก็เข้าใจดีว่า
ทุกอย่างในโลกนี้จำเป็นต้องมีจุดสมดุลย์ของความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ลูกจ้างควรมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำ พร้อมๆกับพัฒนาศักยภาพการทำงานของตนเองอยู่เสมอ ขณะที่นายจ้างก็จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกจ้างในด้านความเป็นอยู่ ตลอดจนสภาพการทำงาน รวมทั้งต้องสนับสนุนให้ลูกจ้างพัฒนาฝีมือ และพัฒนาตนเองได้ในที่สุด มันเป็นความสมดุลย์ที่ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องค้นหา และเสริมสร้างให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ การที่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งง้องอนมากจนเกินพอดี เป็นการลด " ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ลงมา ซึ่งย่อมสร้างความเจ็บปวดมากกว่าที่จะก่อให้เกิดผลดี

" เพื่อนเอ๋ย เอ็งกำลังเจอปัญหาด้านจิตวิทยาการบริหารการจัดการ รวมทั้งจิตวิทยาอุตสาหกรรมเสียแล้ว" ผมแกล้งพูดทีเล่นทีจริง " คนงานสองคนนี้เป็นกรณีตัวอย่างของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างแรงจูงใจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ให้แก่พนักงานที่มีศักยภาพสูงๆ ในองค์กร "

"เป็นไปไม่ได้..." เพื่อนเถ้าแก่ของผมแย้งขึ้นมาในทันที "ค่าจ้างแต่ละเดือนของมันมากกว่าคนจบปริญญาเสียอีก แถมยังมีโบนัสให้อีกทุก 6 เดือน รวมๆแล้วเฉลี่ยเดือนละกว่าสองหมื่น ยังจูงใจไม่พออีกเหรอวะ"

" การให้รางวัลมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของค่าจ้างหรือเงินเดือน ไม่มีผลดีในระยะยาวเลยต่อการเพิ่มผลผลิต มีงานวิจัยมากมายในเรื่องนี้ที่มีผลสรุปออกมาคล้ายกันว่า ถ้าให้รางวัลมาก คนจะไม่เปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน เพราะเขาจะเข้าใจไปว่าที่เขาทำไปเพราะรางวัลจำนวนมากนั้น ตรงกันข้ามถ้าเขาได้รางวัลน้อย เขากลับจะเปลี่ยนทัศนคติไปในทางดีต่องานที่เขาทำไป " ผมอธิบาย โดยพยายามให้เพื่อนเข้าใจมากที่สุด

"
จงอย่าให้รางวัลที่มีมูลค่าสูงเกินกว่าพฤติกรรมที่อยากให้เขาทำ เพราะถ้าเอ็งยังขืนใช้วิธีนี้ต่อไปคนงานเก่งๆของเอ็ง ก็จะเข้าใจไปโดยอัตโนมัติว่า เขาทำไปเพราะรางวัล ไม่ใช่เพราะเขาอยากจะทำ " ผมสรุปให้เพื่อนฟังซ้ำอีกครั้ง พร้อมกับสังเกตสีหน้าของมันแสดงออกถึงการมีความหวังขึ้นมา ปนๆกับความงุนงงไม่แน่ใจด้วยการยิ้ม และพูดว่า " อะไรวะ ไม่ชอบเงินหรือไง ข้าเห็นลูกจ้างที่ไหนๆ ก็อยากได้เงินมากๆกันทั้งนั้น ข้าชักไม่ค่อยแน่ใจว่าทฤษฎีเอ็งจะใช้ได้ผลนะ"

" เงินน่ะ ใครๆก็อยากได้อยากมีกันทั้งนั้น อย่างที่เอ็งคงเคยได้ยินฝรั่งมันพูดเปรียบเปรยแบบติดตลกว่า  เงินไม่ใช่พระเจ้า แต่มันเป็นพ่อของพระเจ้า นักวิจัยในองค์กรภาครัฐ และธุรกิจพบว่า คนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ต้องการมีรายได้มากๆ แต่มีแนวโน้มที่จะเรียกร้องให้มีการทำงานน้อยๆ หรือลดชั่วโมงการทำงานลงในขณะเดียวกัน แต่เอ็งจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ในทุกองค์กรจะมีอยู่ร้อยละ 20 ที่ต้องการทำงานมากๆ พร้อมๆกับต้องการให้โลกได้เห็นผลงาน หรือศักยภาพที่แท้จริงของเขา ลูกจ้างพวกนี้มักจะเป็นระดับหัวกะทิ คนพวกนี้จะมีทัศนคติ และบุคลิกภาพที่แตกต่างจากกลุ่มร้อยละ 80 ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ โดยภาพรวมๆ คนพวกนี้จะมีบุคลิกภาพด้านความทะเยอทะยานสูง ในขณะที่ความต้องการมี หรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ที่สำคัญคนเหล่านี้มีความคิดว่าทำงานให้มาก ทำให้สนุก มีความสุขกับการทำงาน แล้วเงินก็จะตามมาเอง"

"งานวิจัยจำนวนมากที่ทำการศึกษาเรื่องแรงจูงใจในการปฏิบัติงานภายในองค์กร พบตรงกันว่ากลุ่มคนทำงานที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง และมีความทะเยอทะยาน เมื่อให้ตอบแบบสอบถามว่าพนักงานต้องการอะไรจากผู้บริหารมากที่สุด คำตอบที่ได้เป็นไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือ ต้องการให้ผู้บริหารรับรู้ และเข้าใจความสามารถของเขาอย่างจริงจัง ส่วนเรื่องรายได้นั้นกลับเป็นความต้องการท้ายๆไป ซึ่งก็คือคนในกลุ่มร้อยละ 20 นี่แหล่ะ " ผมอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างข้อมูลเท่าที่จำได้ในตอนนี้มายืนยันคำพูดของผมเอง ดูเจ้าเพื่อนเถ้าแก่ของผมตั้งใจฟังอย่างใจจดใจจ่อ ผมจึงรวบรัดโดยการบอกให้มันไปเอากระดาษ กับปากกามาจด

" เอาอย่างนี้ เอ็งจดวิธีการที่ข้าจะบอกนี้ไปอ่าน แล้วเอาไปทำออกมาให้เป็นรูปธรรมทันที โดยเฉพาะกับคนงานสองคนนั่น ไม่ต้องให้เขารู้ตัวว่าเอ็งกำลัง "ไซโค" เขาอยู่ล่ะ พยามทำให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยทำไปพร้อมๆกับคนงานคนอื่นๆของเอ็ง เอ็งจดไปนะชื่อเรื่องว่า....."


 วิธีการที่ดีที่สุดในการให้รางวัลแก่คน (ทุกคนในโลกนี้)
- จิตวิทยาของการให้รางวัลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด -

นการให้รางวัลแก่พฤติกรรมใด เพื่อหวังให้พฤติกรรมนั้นคงทนหรือมีโอกาสเกิดขึ้นในโอกาสต่อไป จำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวนี้:

1. จงบอกเขาให้ชัดเจนว่าท่านต้องการให้เขาแสดงพฤติกรรมอะไร และอย่างไร

โดยธรรมชาติคนเราจะปฏิเสธที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่งด้วยเหตุสองประการคือ เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะทำได้ หรือเพราะประเมินล่วงหน้าแล้วเห็นว่าผลที่ได้จากการกระทำนั้นมันไม่คุ้มกับการทำลงไป การบอกให้เขารู้อย่างชัดเจน จะช่วยให้เขาประเมินตนเองพร้อมๆกับประเมินผลของการกระทำไปในตัวว่าควรจะลงมือทำหรือไม่

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นที่สำคัญมากที่สุด เพราะเป็นขั้นของการบอกให้รู้ตัว ถ้าทำไม่ถูก หรือไม่เหมาะสม แผนงานต่อๆไปก็จะล้มเหลวทั้งหมด วิธีบอกที่ดีคือ
บอกพฤติกรรมที่พึงประสงค์ระคนไปกับการพูดถึงคุณสมบัติที่ดีในตัวเขา ตัวอย่างเช่น " คุณเอก งานขึ้นแบบสินค้าตัวอย่างของคุณชิ้นนี้ยอดเยี่ยมจริงๆ ผมนำไปเสนอลูกค้าหลายคน ทุกคนชอบแบบนี้มาก แต่การที่คุณไม่ค่อยจะรับฟังความเห็นของฝ่ายผลิตบ้าง อาจมีผลทำให้ฝ่ายผลิตไม่ค่อยให้ความร่วมมือที่จะทำการผลิตสินค้าตัวนี้ออกมานะครับ...." นอกจากนั้นน้ำเสียงรวมทั้งการใช้ภาษาท่าทาง จะมีความสำคัญมากในขั้นตอนนี้ด้วยเช่นกัน ใบหน้าที่ไม่บึ้งตึง น้ำเสียงที่เอาจริงเอาจังที่อยากช่วยเหลือ แววตาที่แสดงความปราณี ไม่มีท่าทีข่มขู่บังคับ ฯลฯ องค์ประกอบเหล่านี้มีส่วนช่วยให้เกิดการยอมรับได้ง่ายขึ้น

2. จงให้รางวัลทันทีที่เขาทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้นเสร็จลง ต้องให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ให้รางวัลทันที พร้อมทั้งกล่าวชมเชย ( ให้รางวัลทางวาจา) ควบคู่ไปด้วย เพื่อที่จะให้เกิดความสัมพันธ์อย่างชัดเจน แน่นแฟ้นระหว่างพฤติกรรมนั้นกับรางวัลที่ได้รับ ตัวอย่างระบบราชการแบบเดิมๆ ทำดีเมื่อต้นปี มาได้สองขั้นตอนเกือบสิ้นปี แบบนี้ได้ผลน้อยมาก หรือไม่ได้ผลใดๆเลยต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

3. จงตรวจสอบให้แน่ใจว่ารางวัลนั้นเป็นสิ่งที่เขาปราถนาอย่างแท้จริง

รางวัลที่เขาไม่อยากได้ ย่อมไม่มีค่าเป็นรางวัลอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น รางวัลสำหรับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ที่ทำความดี กรมการปกครองจะมอบแหนบทองคำ และปืนยาวให้ ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมานับสิบๆปีแล้ว ปัจจุบันไม่ใช่ยุคไดโนเสาร์แล้ว แต่เป็นยุคดิ๊จิตัล กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะเอาปืนยาวไปยิงใคร ? โรงเรียนบางแห่ง ประกวดแข่งขันคณิตคิดเร็ว เด็กก็แข่งขันความสามารถกันจนหน้าเขียว หน้าดำ ไปตามๆกัน สุดท้ายผู้ชนะลำดับที่ 1 ได้ผ้าขนหนูหนึ่งโหล ผู้ชนะลำดับที่ 2 ได้ผ้าขนหนูครึ่งโหล และผู้ชนะที่3 ได้ผ้าขนหนู 3 ผืน ? แสดงให้เห็นถึงระดับไอคิวทั้งทางวิชาการ และทางอารมณ์ของครูยุคปัจจุบันอย่างชัดเจน ผลลัพธ์คือผ้าขนหนูที่เด็กได้วางเรี่ยราดอยู่ที่สนามเด็กเล่นในโรงเรียน หรือไม่ก็ทิ้งไว้ที่บ้านรอให้คุณพ่อเอาไปใช้ !

จะให้รางวัลคนเรากันทั้งที สอบถามเขาหน่อยสิครับว่าเขาต้องการอะไร อาจเป็นการถามอ้อมๆเพื่อสืบเสาะดูว่าเขาต้องการอะไรมากที่สุดในชีวิต หรือหาโอกาสในช่วงกิจกรรมงานกีฬาของหน่วยงานออกเป็นแบบสอบถามก็ได้

4. จงให้รางวัลแก่เขาทุกครั้งที่เขากระทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ออกมาในตอนแรก จนแน่ใจว่าเขาสามารถกระทำพฤติกรรมนั้นได้อย่างถูกต้อง หลังจากนั้นจึงค่อยๆลดความถี่ของการให้รางวัลลงไปเรื่อยๆ จนเป็นแบบให้บ้าง ไม่ให้บ้าง ไม่แน่นอน

ดยธรรมชาติของคน เมื่อทำดี และได้รับรางวัลแล้วจะเกิดภาวะอิ่มตัวชั่วขณะ เขาจะไม่อยากได้รางวัลนั้นชั่วคราว ยิ่งถ้ารางวัลนั้นมีขนาดใหญ่ ก้จะเกิดภาวะอิ่มตัวนานมากขึ้น) ดังนั้นผู้ให้รางวัลจะต้องเปลี่ยนประเภทของรางวัลที่ให้ด้วยไม่จำเป็นต้องให้เหมือนๆกันในทุกครั้ง และระยะแรกๆอาจเป็นรางวัลทางวัตถุ หลังอาจสลับเป็นการพูดชมเชยต่อหน้าพนักงานคนอื่นๆ รวมทั้งจะต้องค่อยๆลดความถี่ของการให้รางวัลลงตามลำดับ ไปจนถึงระดับที่เขาไม่สามารถทำนายได้ว่าเขาจะได้รางวัลเมื่อใดอีก ซึ่งจะมีผลทำให้เขาต้องแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้นอย่างต่อเนื่อง

------------------------------------------------------------------------------

วลาผ่านไปนานกว่า 4 เดือน ผมกำลังซื้อของใช้ส่วนตัว ภายในห้างสรรพสินค้า ก็มีเสียงทักทายใกล้ตัวผม " พี่ครับ สวัสดีครับ..." ผมเหลียวไปดูจึงจำได้ว่าเป็นนายโชคชัย หัวหน้าคนงาน หนึ่งในสองคน ที่เพื่อนเถ้าแก่ เอสเอ็มอี ของผมมันบ่นถึง และขอคำปรึกษาจากผมเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว

" แหม หมู่นี้ไม่เจอพี่ที่โรงงานเถ้าแก่เลยนะครับ"

" ก็เถ้าแก่นายโชคน่ะ ช่วงนี้ยุ่งๆกับเรื่องออเดอร์นอก ผมก็เลยเกรงใจ เอาไว้ให้เสร็จงานก่อน คงได้รับเชิญจากเถ้าแก่ของนายโชค ให้ไปฉลองแน่นอน.... เออ นายบุญล่ะ เห็นบอกว่าอยากออกนี่ ตอนนี้ไปทำงานอะไรล่ะ.... " ผมคุยทักทาย และแกล้งสอบถามถึงหัวหน้าคนงานอีกคนหนึ่งแทน


" โอยพี่ ไม่ออกแล้ว โรงงานของเถ้าแก่เนี่ยดีที่สุดแล้วครับ ช่วงหลังๆมานี่เถ้าแก่เอาระบบอะไรนะ เอ เรียกว่าอะไรจำได้ไม่แม่นด้วย..... เออครับ ระบบไอโซ่ 007 มาใช้ คนงานจากที่อื่นก็อยากมาทำงานกับเถ้าแก่ ผมเองเมื่อ 5-6 เดือนที่แล้วก็เบื่องานที่ทำ อยากไปเรียนรู้งานจากโรงงานอื่นบ้าง พอดีโรงงานเปลี่ยนมาใช้ระบบไอโซ่ 007 ทำงานสนุก ไม่รู้สึกเบื่อ เลยเปลี่ยนใจแล้วครับ อยู่ช่วยงานเถ้าแก่ต่อดีกว่า ไอ้บุญก็ยังอยากอยู่ต่อเลยครับ มันบอกว่าชอบตรงที่เถ้าแก่เนี๊ยซื้อ รถกระป๋อง ไปให้ลูกชายมันเป็นรางวัลที่สอบได้เลขตัวเดียว ลูกชายมันชอบมากๆ เช็ดๆขัดทุกวัน....."

ายโชคชัยสดุดีระบบ ISO 007 ของเพื่อนเถ้าแก่ผมคนนี้อีกมากมายด้วยสำเนียงอีสาน ผมฟังอย่างตั้งใจ และนึกขำไอ้เพื่อน " หัววอก" ( ภาษาเหนือแปลว่าหัวลิง ฉลาดแกมโกง ) ของผม โอ้โห... ISO-007 เข้าใจตั้งชื่อเสียจริง แถมลงมือปฏิบัติการแบบสายฟ้าเหมือนหนังเจมส์บอนด์ไม่มีผิด เข้าถึงเมีย ( ของมันเองนะครับ ) ให้ร่วมมือปฏิบัติการลงลึกถึงลูกชาย ประเภทยิงนัดเดียว ได้นกสองตัว....นายแน่มากเพื่อน !



                                                                            
>>>หน้าถัดไปเรื่อง : "หัวเราะสำคัญกว่าที่คิด"
 

 
  
  Lampang-CNN :  viman183@hotmail.com